ผลตรวจเอดส์ บอกอะไรบ้าง?
เป็นที่ทราบกันดีว่า ผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ HIV ควรจะรีบไปตรวจคัดกรองเพื่อหาเชื้อ เพราะการทราบผลการติดเชื้อที่รวดเร็วจะช่วยให้เราสามารถดูแลตัวเองได้อย่างถูกวิธี การไปตรวจเลือดเพื่อดูว่าเราติดเชื้อ HIV หรือไม่นั้นสามารถเดินทาง ไปตรวจหาเชื้อ HIV ได้ตามโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน หรือตามคลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อย่างไรก็ตาม เมื่อไปตรวจแล้วเราจะได้รับใบแสดงผลการตรวจหาเชื้อ HIV มา หลายท่านอาจจะไม่เข้าใจว่ารายละเอียดต่าง ๆ ที่แสดงในใบผลตรวจเอดส์ บ่งบอกถึงอะไร ทำให้เกิดความสับสนว่าเราติดเชื้อ HIV หรือเปล่า ผลการตรวจที่ได้เชื่อถือได้หรือยัง ต้องไปตรวจซ้ำอีกหรือไม่ วันนี้เราจะไปดูกันว่าใบผลตรวจเอดส์ บอกอะไรบ้าง
Table of Contents
การตรวจเอดส์ตรวจอย่างไร
การตรวจเอดส์ที่เราเรียกกันติดปากนั้น คือการตรวจการติดเชื้อ HIV ( Human Immunodeficiency Virus ) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่สามารถทำให้ “ภูมิคุ้มกันบกพร่อง” เชื้อไวรัสชนิดนี้ จะทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ร่างกายไม่สามารถต่อสู้กับการติดเชื้อต่างๆ ได้ ซึ่งเราเรียกภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องนี้ว่าโรคเอดส์ หลายคนจึงเรียกการตรวจการติดเชื้อ HIV ว่าตรวจเอดส์ ซึ่งในปัจจุบัน มีการตรวจที่ได้รับความนิยมในสถานพยาบาล 3 ทาง คือ
- การตรวจหาแอนติบอดีที่จำเพาะต่อเชื้อเอชไอวี (Anti-HIV testing) เป็นวิธีที่นิยมใช้ในการตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีในปัจจุบัน โดยสามารถตรวจพบได้หลังการติดเชื้อประมาณ 3-4 สัปดาห์
- การตรวจหาแอนติเจนของเชื้อเอชไอวี โดยตรวจหาโปรตีนของเชื้อที่ชื่อว่า p24 (HIV p24 antigen testing) ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้ตรวจการติดเชื้อในระยะแรกที่ผู้ได้รับเชื้อยังไม่สร้างแอนติบอดีต่อเชื้อเอชไอวี (Anti-HIV) โดยสามารถตรวจได้ภายหลังการติดเชื้อประมาณ 14-15 วัน
- การตรวจแบบ Fourth generation เป็นการตรวจ Anti-HIV และ/หรือ HIV p24 antigen ในคราวเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันน้ำยาประเภทนี้มีการใช้อย่างแพร่หลายเพื่อตรวจคัดกรองผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี โดยสามารถตรวจพบการติดเชื้อได้เร็วที่สุด 14-15 วัน หรือ 2 สัปดาห์หลังติดเชื้อ
หัวข้อที่มักจะพบบนใบผลตรวจเลือดเอชไอวี
เมื่อเข้ารับการตรวจ HIV แล้วเราจะได้รับใบผลตรวจซึ่งในเอกสารที่แพทย์ให้ จะระบุรายละเอียดตามหัวข้อต่างๆ มีหัวข้อที่มักจะพบบนเอกสารแสดงผลการตรวจ ดังนี้
หมายถึง ชื่อของการตรวจเลือดนั้นว่าเป็นการตรวจเลือดหาสิ่งใด
NAME/Test คือชื่อของการตรวจเลือดที่เราเข้ารับการตรวจ ทำให้เรารู้ว่าการตรวจนั้นเป็นการตรวจเพื่อดูผลจากสิ่งใด เช่น
- Anti-HIV หมายความว่าเราเข้ารับการตรวจเพื่อหาภูมิคุ้มกันที่มีต่อเชื้อเอชไอวี เป็นการตรวจแบบ Anti-HIV testing
- HIV p24 antigen testing แปลว่า เราเข้ารับการตรวจเพื่อหาแอนติเจนของเชื้อเอชไอวี โดยตรวจหาโปรตีนของเชื้อที่ชื่อว่า p24 เป็นต้น
ITEM/Test หมายถึง เครื่องมือ วิธีการ หรือเทคนิคที่ใช้ในการตรวจ
ITEM/Test คือข้อมูลที่แจ้งให้ผู้ตรวจได้ทราบถึงเทคนิควิธีการในการตรวจหาเชื้อ เช่น Screening test หมายความว่า เป็นการตรวจเพื่อคัดกรอง ซึ่งอาจจะมีอะไรต่อหลัง เช่น ECLIA, ICA เป็นต้น สิ่งที่ต่อท้ายนี้เป็นวิธีการที่ใช้ตรวจ เช่น
- การตรวจแบบ Enzyme Immuno Assay (EIA) หรือ ELISA : Enzyme-linked Immunosorbent Assay ต้องนำเลือดใส่หลอดและนำเข้าเครื่องตรวจ เป็นวิธียอดนิยมที่ใช้ในรพ.ทั่วไป สามารถให้ผลได้ภายใน 45 – 60 นาที
- ECLIA ย่อมาจาก Electrochemiluminescence Immunoassey หรือ 4th Generation หมายถึงการตรวจคัดกรองด้วยเทคนิคด้วยการควบสองวิธีเข้าด้วยกัน คือการตรวจภูมิคุ้มกัน (antibody) ซึ่งต้องรอให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาก่อนจึงจะตรวจพบเชื้อ และการตรวจหาไวรัสตัวเป็น ๆ ซึ่งจะพบเชื้อได้ทันทีโดยไม่ต้องรอระยะฟักตัว (window period) ทำให้สามารถย่นระยะที่ตรวจไม่พบการติดเชื้อ (Window Period) ให้แสดงผลเหลือประมาณ 28 วันเท่านั้น
RESULT หมายถึง ผลการตรวจ
- NON-REACTIVE = ไม่พบปฏิกิริยา คือ ผลเลือดไม่พบการติดเชื้อเอชไอวี
- NEGATIVE = ไม่พบปฏิกิริยา คือ ผลเลือดไม่พบการติดเชื้อเอชไอวี
- REACTIVE = พบปฏิกิริยา คือ ผลเลือดพบการติดเชื้อเอชไอวี
- POSITIVE = พบปฏิกิริยา คือ ผลเลือดพบการติดเชื้อเอชไอวี
- WEAKLY REACTIVE = พบปฏิกิริยาอ่อนๆ จะต้องตรวจซ้ำอีกรอบ และหากรอบต่อมาไม่พบปฏิกิริยา ก็จะต้องตรวจซ้ำอีก ขึ้นอยู่กับวินิจฉัยของแพทย์
ผลการตรวจจะมีความน่าเชื่อถือมากน้อย สิ่งที่สำคัญมากในการตรวจหาเชื้อ HIV คือการให้ข้อมูลที่แท้จริงกับแพทย์ เพราะแพทย์จะสอบถามระยะเวลา ที่ได้รับความเสี่ยง และเลือกวิธีการตรวจ ให้อย่างเหมาะสมก่อน เข้ารับการตรวจ
ชุดตรวจ HIV ราคาเท่าไหร่ ซื้อได้ที่ไหน ?
ถึงแม้การตรวจเอชไอวี ในปัจจุบัน จะเป็นเรื่องง่าย ๆ ที่ใครก็สามารถเดินเข้าไปตรวจได้ ณ สถานพยาบาลทุกที่ ยิ่งหากคุณเป็นคนไทยที่ถือครองบัตรประจำตัวประชาชนอยู่ ก็สามารถได้รับสิทธิการตรวจเอชไอวีฟรี ปีละ 2 ครั้ง จากโรงพยาบาลรัฐที่มีสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือโรงพยาบาลที่คุณมีสิทธิประกันสังคมอยู่ การที่รัฐเอื้ออำนวยให้การตรวจเลือดคัดกรองเชื้อไวรัสเอชไอวีง่ายขึ้น ทำให้กลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงเข้ารับการตรวจได้อย่างรวดเร็ว และรู้ถึงสถานะเอชไอวีของตนเอง อันเป็นการเข้าสู่กระบวนการรักษา หากผลเลือดบวก หรือติดเชื้อเอชไอวี หรือช่วยให้คน ๆ นั้นป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากโรคได้อย่างถูกต้องมากยิ่งขึ้น หากผลเลือดเป็นลบ หรือไม่ติดเชื้อ
เสี่ยงแบบไหนที่ควรตรวจเอชไอวี
- มีเพศสัมพันธ์ที่ไม่สวมถุงยางอนามัย
- มีการใช้เข็มฉีดยาเสพสารเสพติดร่วมกับผู้อื่น
- ถุงยางอนามัยแตก รั่ว หรือฉีกขาดขณะมีเพศสัมพันธ์
- มีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่ใช่คู่นอนประจำของคุณ
- โดนล่วงละเมิดทางเพศ หรือขาดสติขณะมีเพศสัมพันธ์
- ใช้อุปกรณ์สักหรือเจาะร่างกาย ที่ไม่ได้รับการทำความสะอาดอย่างถูกต้อง
- โดนเข็มหรือมีดทิ่มต่ำ ในกรณีที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์
ในปัจจุบัน นวัตกรรมในการตรวจหาเชื้อ HIV พัฒนาไปมาก ผู้คนทั่วไปก็มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการติดเชื้อ HIV มากยิ่งขึ้น สำหรับท่านที่ไม่สะดวกใจจะไปตรวจที่สถานพยาบาล และมีความกังวลว่าตนเองมีความเสี่ยงในการรับเชื้อ HIV อยากจะตรวจคัดกรองด้วยตนเองในเบื้องต้น ปัจจุบันนี้ มีชุดเทส HIV ในรูปแบบ Rapid Test ที่สามารถหาซื้อมาตรวจด้วยตนเองที่บ้านได้ ทำให้เกิดความสะดวกและสามารถตรวจเพื่อความมั่นใจ ลดความกังวลของผู้มีความเสี่ยงได้ดียิ่งขึ้น โดยชุดตรวจ HIV ด้วยตนเองนั้น ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา (อย.) ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการดูแลสุขภาพที่ช่วยให้เราเกิดความสะดวกในการตรวจหาเชื้อ HIV (เอชไอวี) ได้ที่บ้านอย่างง่ายๆ และให้ผลที่น่าเชื่อถือได้